top of page

Trick & Tips การวัดทางวิทยาการระบาด (ตอนที่ 2)

รูปภาพนักเขียน: Research LerdsinResearch Lerdsin

ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดวิทยาเชิงลบ

         เป็นสถิติที่นำเสนอสถานการณ์ทางด้านวิทยาการระบาด เช่น การป่วย การตาย ปัญหาสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ เป็นต้น ใช้ในการบ่งชี้ถึงสุขภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และเป็นสิ่งจำเป็นในการวางแผนงานและประเมินผลทางด้านสาธารณสุข


ประเภทตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดเชิงลบ สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

(1) ตัวชี้วัดที่พัฒนาใช้ในวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา หรือในการวิจัยด้านสังคม ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ทางด้านสุขภาพ และสามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มโรค ในเรื่องความรุนแรง ความเจ็บป่วยร่วม และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสามารถใช้ในการประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วย

(2) ตัวชี้วัดที่ใช้เฉพาะกับกลุ่มคน โดยจะใช้เพื่อประเมินผลทางคลินิก หรือติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของภาวะสุขภาพหลังจากได้รับการรักษา

(3) ตัวชี้วัดที่มีการให้น้ำหนักในการวัดค่าของสภาวะสุขภาพ เป็นการให้น้ำหนักกับชนิดของโรค ความผิดปกติต่างๆ หรือช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต


ลักษณะตัวชี้วัดเชิงลบ

1. ตัวชี้วัดการตาย (Mortality Indicators) เป็นตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลการตาย โดยการนำข้อมูล เช่น เพศ อายุเมื่อตาย สาเหตุการตาย มาใช้ในการวิเคราะห์หาอัตราตายอย่างหยาบ กล่าวคือจำนวนคนตายทั้งปี หรือ ปริมาณการตายในประชากรกลุ่มหนึ่งในหนึ่งปี

วิธีการคำนวณ

อัตราตายอย่างหยาบ = [ จำนวนผู้เสียชีวิตในปีนั้น / ประชากรกลางปี ] x 1,000

(หน่วย : ต่อประชากร 1,000 คน)

*ประชากรกลางปี = จำนวนประชากร ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ของปีนั้น

2. ตัวชี้วัดความเจ็บป่วยและภาวะทุพพลภาพ (Morbidity Indicators)

2.1 ความชุก (Prevalence Rate) เป็นการคำนวณหาจำนวนคนทั้งหมดที่เกิดโรค หรือขนาดของโรคในประชากรกลุ่มหนึ่ง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือภายในช่วงเวลาหนึ่ง

วิธีการคำนวณแบบที่ 1 เป็นการคำนวณความชุกของการเกิดโรคในระดับประชากรในพื้นที่ โดยมีการบันทึกข้อมูลการเจ็บป่วยครอบคลุมทุกคน

Prevalence = [ a / b ] x k

(หน่วย : ต่อประชากร k คน)

เมื่อ     a = จำนวนคนที่เกิดโรคในประชากรกลุ่มที่สนใจภายในช่วงเวลาหนึ่ง

b = ประชากรทั้งหมดในกลุ่มนั้นภายในช่วงเวลาเดียวกัน

k = จำนวนต่อประชากรที่สนใจ

วิธีการคำนวณแบบที่ 2  เป็นการคำนวณความชุกของการเกิดโรคในพื้นที่ทีี่ได้ทำการสำรวจ

Prevalence = [ c / d ] x k

(หน่วย : ต่อประชากร k คน)

เมื่อ     c = จำนวนคนที่เกิดโรคในประชากรกลุ่มที่สนใจ

d = ขนาดตัวอย่างที่สำรวจ

k = จำนวนต่อประชากรที่สนใจ

2.2 อุบัติการณ์ (Incidence Rate) เป็นการคำนวณหาจำนวนผู้ที่เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาที่สังเกต เป็นการวัดขนาดการเกิดขึ้นใหม่ของโรค หรือการวัดขนาดการเปลี่ยนแปลงสภาพจากการปราศจากโรคไปสู่การเป็นโรค

วิธีการคำนวณ

Incidence  =  [ a / b ] x k

(หน่วย : อัตราต่อประชากร k คนต่อปี)

เมื่อ     a = จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ด้วยโรคที่สนใจในช่วงเวลาหนึ่ง

b = จำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนั้นในเวลาเดียวกัน

k = จำนวนต่อประชากรที่สนใจ

 2.3 อายุเริ่มป่วย (Age at Onset) เป็นการบันทึกอายุที่เริ่มป่วยด้วยโรคที่สนใจ เพื่ออธิบายว่าโรคนั้นเกิดขึ้นกับกลุ่มอายุใดบ้าง โดยวิเคราะห์เป็นสัดส่วนเฉพาะผู้ที่เป็นโรคนั้นๆ หรือหาอายุต่ำสุดของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนั้นๆ

2.4 อัตราป่วยตาย (Case Fatality Rate: CFR) เป็นการคำนวณหาขนาดการเกิดขึ้นใหม่ของโรคในช่วงการเกิดการระบาด หรือวัดขนาดความรุนแรงของโรคนั้น

วิธีการคำนวณ

Incidence  =  [ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคนั้น / จำนวนผู้ป่วยเป็นโรคนั้น ] x k

(หน่วย : อัตราต่อผู้ป่วย k คน)

 3. ตัวชี้วัดภาวะทุพพลภาพ (Disability Indicators) เป็นสิ่งที่ใช้ประเมินภาวะทุพพลภาพเพื่อประเมินความเป็นอิสระในการทำกิจวัตรที่จำเป็นในการดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน และกิจวัตรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยตัวชี้วัดแต่ละตัวจะมีวิธีการคำนวณและการแปลผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวนั้นๆ ตัวชี้วัดที่น่าสนใจ เช่น ตัวชี้วัดระดับความสามารถในการดำเนินกิจกรรมของประชาชน, ตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิต, ตัวชี้วัดสภาวะบกพร่องทางสติปัญญา, ดัชนีชี้วัดภาวะบกพร่องทางสุขภาพ, ดัชนีชี้วัดภาระโรค เป็นต้น


ที่มา;  สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2567). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชาวิทยาการระบาดในงานสาธารณสุข (พิมพ์ครั้งที่ 4). โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 

**********************************************************************************

ณัฐ นนทเกียรติกุล

นักวิชาการสถิติ

Trick & Tips 6/2568

Comments


bottom of page