top of page

Trick & Tips การวัดทางวิทยาการระบาด (ตอนที่ 1)

อัปเดตเมื่อ 2 พ.ค.

การวัดทางวิทยาการระบาด หมายถึง การนำข้อมูลเกี่ยวกับการป่วย หรือการตาย และการได้รับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มาคำนวณเป็นดัชนีชี้วัดทางวิทยาการระบาด เช่น

  • ดัชนีวัดขนาดของปัญหาการเจ็บป่วยและการตาย

  • ดัชนีวัดความเสี่ยงของการเกิดโรค

  • ดัชนีวัดความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับปัจจัยที่เป็นสาเหตุกับการเกิดโรค

  • ดัชนีวัดผลกระทบของปัญหาสุขภาพในประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่เป็นสาเหตุต่างๆ


ประโยชน์ของการวัดทางวิทยาการระบาด

(1) ใช้วัดการกระจายของโรคหรือปัญหาสุขภาพและแสดงถึงแนวโน้มของการเกิดโรคในชุมชน

(2) ใช้วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาสุขภาพต่างๆ และเปรียบเทียบสถิติอนามัยในอดีตและปัจจุบีน หรือเปรียบเทียบในแต่ละกลุ่มประชากร

(3) ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนงานสาธารณสุข

(4) ใช้สำหรับการประเมินผลการบริหารจัดการสาธารณสุขและวัดผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ

(5) ใช้ในงานวิจัยและการศึกษาทางวิทยาการระบาดต่างๆ


ชนิดของของการวัดทางวิทยาการระบาด

(1) การวัดสถานการณ์สุขภาพอนามัยของประชาชน แบ่งได้เป็นดังนี้

       1.1) การวัดการเกิดโรคในชุมชน เป็นการวัดขนาดของโรคในกลุ่มประชากรที่สนใจ รวมถึงผลที่เกิดจากการเป็นโรคนั้นๆ เช่น อัตราอุบัติการณ์ อัตราความชุก

       1.2) การวัดภาระโรค เป็นการวัดการสูญเสียจากการเจ็บป่วยแต่ละโรค การสูญเสียเวลาการมีชีวิตอยู่จากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ  การสูญเสียชีวิตที่มีศักยภาพจากการตายด้วยโรคต่างๆ หรือการสูญเสียค่าใช้จ่าย

       1.3) การวัดภาวะสุขภาพเชิงบวก เช่น การวัดอายุไขเฉลี่ย  การวัดคุณภาพชีวิต  เป็นต้น

(2) การวัดเพื่อระบุความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรที่สนใจและปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค

(3) การวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน เป็นการวัดผลที่เกิดจากโครงการใดๆ ที่ดำเนินการในการป้องกัน ขจัด หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคในชุมชน


ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดที่ใช้สำหรับบ่งชี้สถานการณ์การเกิดโรคหรือสถานการณ์ทางด้านสุขภาพ มีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง 3 ประเภท ดังนี้

(1) ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดเชิงลบ

(2) ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดเชิงบวก

(3) ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดอื่นๆ เช่น ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการเฝ้าระวังภาวะเสี่ยง ตัวชี้วัดทางด้านทันตสาธารณสุข ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการบริการทางด้านสุขภาพ เเละตัวชี้วัดเกี่ยวกับภาวะเสี่ยงระดับบุคคล


ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดที่ใช้สำหรับการศึกษาปัจจัยเสี่ยง เป็นการวัดทางวิทยาการระบาดในการวัดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ รวมทั้งการวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนเพื่อบ่งบอกถึงปริมาณหรือขอบเขตของปัญหาที่ผู้วิจัยสนใจ มีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง 2 ประเภท ดังนี้

(1) ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดเกี่ยวกับความเสี่ยง

1.1) Crude Relative Risk (RR)

1.2) Crude Odds Ratio (OR)

1.3) Prevalence Ratio (PR)

1.4) Adjusted Relative Risk and Adjusted Odds Ratio

(2) ตัวชี้วัดทางวิทยาการระบาดเกี่ยวกับผลกระทบ

2.1) Attributable Risk (AR)

2.2) Population Attributable Risk (PAR)

2.3) Attributable Fraction (AF)

2.4) Population Attributable Fraction (PAF)



ที่มา;  สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2567). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชาวิทยาการระบาดในงานสาธารณสุข (พิมพ์ครั้งที่ 4). โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.  

**********************************************************************************


ณัฐ นนทเกียรติกุล

นักวิชาการสถิติ

Trick & Tips 5/2568

Comentarios


bottom of page